สหกรณ์ที่ฉันได้รู้จัก

เมื่อพูดถึงคำว่า “สหกรณ์” ใครหลายๆคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่าสหกรณ์นั้นคืออะไรกันแน่ บางคนอาจจะรู้รักคำว่าสหกรณ์ผ่านการบอกเล่าของคนอื่น อาจจะรู้จักแค่ว่าสหกรณ์ที่ขายปุ๋ยขายยาใช่ไหม? หรืออาจจะรู้จักแค่ว่าสหกรณ์เป็นเหมือนร้านค้าที่ขายพวกวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตรรึเปล่า? หรือเป็นเพียงแค่ปั๊มน้ำมันทั่วๆเท่านั้น? ถึงแม้จะรู้เพียงผิวเผินแต่ก็ไม่ได้รู้เนื้อแท้ของมันเท่าไหร่นัก และในวันนี้ในฐานะที่ผู้เขียนเองได้มีการเรียนรู้หลักสูตรทางด้านสหกรณ์มาตั้ง 4 ปี (นักศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์สหกรณ์จ้า) อยากจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์ซักเล็กน้อย(หวังว่าจะไม่เล็กน้อยเกินไปนะ 555) และต้องขออนุญาตออกตัวก่อนเลยว่าการเขียนบทความในครั้งนี้อาจมีข้อที่ผิดพลาดไปบ้างต้องขออภัยในความไม่รู้มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
ถ้าจะให้พูดถึงคำว่า “สหกรณ์” โดยให้ความหมายไว้อย่างง่ายๆนะครับ สหกรณ์ คือการทำงานร่วมกันของผู้คนที่ประกอบอาชีพเดียวกันและประสบปัญหาเช่นเดียวกัน(ปัญหาที่ว่าอาจเป็นหาทางเศรษฐกิจ ฐานะ ความเป็นอยู่หรือการประกอบอาชีพ)โดยร่วมแรง ร่วมใจกันช่วยเหลือตัวเองและสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของตนเองและสมาชิก
สหกรณ์แรกที่ก่อตั้งในประเทศไทยนั้นก็คือ “สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้” โดยผู้ที่นำแนวคิดเกี่ยวกับสหกรณ์เข้ามาปรับใช้ในประเทศคือ “กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์” ถือได้ว่าพระองค์นั้นเป็นพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยเลยก็ว่าได้ แต่เดิมแล้วสหกรณ์ในไทยเป็นประเภท “ไม่จำกัดสินใช้” แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นสหกรณ์ต่างๆเป็นแบบ “จำกัด” สามารถอธิบายได้อย่างง่ายๆว่า คำที่ลงท้ายชื่อของสหกรณ์ว่า “ไม่จำกัดสินใช้” ก็คือ ถ้าสมาชิกสหกรณ์คนใดคนหนึ่งผิดสัญญา(เบี้ยวหนี้)ทุกคนที่เป็นสหกรณ์จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ (สหกรณ์แห่งแรกของไทย) แต่ในปัจจุบันแบบไม่จำกัดสินใช้ไม่มีแล้วครับ ส่วนคำลงท้ายสหกรณ์ในปัจจุบันใช้คำว่า “จำกัด” ทั้งหมด หมายถึง หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งผิดสัญญา สมาชิกคนนั้นๆจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวครับ เช่น สหกรณ์การเกษตรเมืองลำพูน จำกัด , สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด เป็นต้น สหกรณ์ถือได้ว่าเป็นนิติบุคคลประเภทหนึ่งที่มีการธุรกิจเหมือนกับบริษัทร้านค้าทั่วๆไป มีทั้งข้อที่เหมอนกันแลแตกต่างกัน ดังนี้
ข้อที่เหมือนกัน
บริษัทและสหกรณ์มีการถือหุ้นเหมือนกัน
สหกรณ์เน้นการรวมคนมากกว่ารวมทุน
มีการให้เงินปันผลตามหุ้นเหมือนกัน
ข้อที่แตกต่าง
บริษัทสามารถถือหุ้นเท่าไหร่ก็ได้ไมจำกัดจำนวนหุ้นแต่สหกรณ์นั้นสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน100 หุ้น(ในกรณีนี้แล้วแต่ระเบียบ ข้อบังคับของแต่ละสหกรณ์แต่ส่วนมากแล้วไม่เกิน 100 หุ้น)
บริษัทเน้นการรวมทุนมากกว่ารวมคน
สหกรณ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้บริการแก่สมาชิกเป็นส่วนใหญ่แต่บริษัทรวบรวมผู้ถือหุ้นจัดตั้งขึ้น เพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก
การโหวตหรือการออกเสียงของบริษัทผู้ที่ถือหุ้นมากจะมีเสียงมากตามหุ้นที่ถือด้วยแต่ว่าสหกรณ์นั้นจะให้ความสำคัญกับคนมากกว่าเงิน(หุ้น) ไม่สนว่าใครจะถือหุ้นมากหรือหุ้นน้อยแต่สมาชิกทุกคนมีสิทธิออกเสียงเพียง 1 เสียงเท่านั้น (1 Man 1 Vote )
บริษัทมีแค่เงินปันผลตามหุ้นแต่สหกรณ์มีทั้งเงินปันผลตามหุ้นและเงินเฉลี่ยคืนตามการมีส่วนร่วมกับธุรกิจของสหกรณ์
เราสามารถเห็นข้อที่เหมือนกันและข้อแตกต่างกันจากการเปรียบเทียบข้างต้นไปพอสมควรแล้ว จึงอยากจะแนะนำให้คุณผู้ได้รู้เกี่ยวกับสหกรณ์มากยิ่งขึ้น สหกรณ์ในประเทศไทยของเรานี้มีหลายประเภทด้วยกันนะครับสามารถแบ่งแยกจำแนกออกได้เป็น 2 ภาคครับ (เหมือนกับหนังเลยมีภาค 1 ภาค 2ด้วย) และแบ่งเป็น 7 ประเภทครับ มาทำความรู้จักกันเลยครับกับ
ภาคที่ 1 คือ ในภาคการเกษตร เป็นสหกรณ์ที่สมาชิกประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการทำอาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์ครับ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
สหกรณ์การเกษตร เช่น สหกรณ์การเกษตรแม่ริม จำกัด,สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด เป็นต้น
สหกรณ์ประมง เช่น สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด,สหกรณ์ประมงระยอง จำกัด เป็นต้น
ภาคที่ 2 คือ นอกภาคการเกษตร เป็นสหกรณ์ที่สมาชิกไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือปศุสัตว์ครับ แบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
สหกรณ์ออมทรัพย์ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำกัด เป็นต้น
สหกรณ์นิคม เช่น สหกรณ์นิคมสันทราย จำกัด เป็นต้น
สหกรณ์บริการ เช่น สหกรณ์นครลานนาเดินรถ จำกัด เป็นต้น
สหกรณ์ร้านค้า เช่น สหกรณ์ร้านค้าในโรงเรียนต่างๆครับ
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฝาง จำกัด เป็นต้น
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นว่าสหกรณ์มีหลากหลายประเภทเพื่อที่จะมีความครอบคลุมในทุกกลุ่มอาชีพทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร สหกรณ์มีการทำธุรกิจเช่นเดียวกับบริษัทห้างร้านทั่วไปซึ่งแต่ละสหกรณ์ที่ทำธุรกิจที่คล้ายกันแต่บางธุรกิจก็มีเฉพาะสหกรณ์ๆไป เรามาดูกันหน่อยสิว่าสหกรณ์ส่วนมากมีธุรกิจอะไรบ้างที่คอยให้บริการสมาชิก

1.ธุรกิจสินเชื่อ
ถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่ทุกๆสหกรณ์ทำ เนื่องมาจากปัญหาพื้นฐานที่สมาชิกเป็นอยู่คือ ขาดทุนทรัพย์ในการใช้เพื่อประกอบอาชีพ หรือเพื่อยังชีพ (แล้วแต่สหกรณ์บางสหกรณ์ให้กู้เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพเท่านั้น) ซึ่งสหกรณ์จะให้ให้บริการสินเชื่อแก่สมาชิกและสมาชิกสมทบในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าแหล่งเงินทุนอื่นๆ (ส่วนมากแล้วอัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าธนาคารค่อนข้างมาก)
2. ธุรกิจรับฝากเงิน
เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทุกสหกรณ์มี สหกรณ์เป็นเหมือนกับธนาคารครับ มีทั้งการรับฝากเงินการปล่อยสินเชื่อ การธุรกิจรับฝากเงินของสหกรณ์จะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสหกรณ์มาก(ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าสูงกว่าธนาคารมากจริงๆ) แต่จะไม่สูงเกินตามที่พ.ร.บ.สหกรณ์ หรือระเบียบข้อบังคับที่สหกรณ์นั้นๆกำหนด
3. ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย
เป็นธุรกิจที่ส่วนมากแล้วจะมีในสหกรณ์ในภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ มีในสหกรณ์นอกภาคบ้างเล็กๆน้อยๆประราย เป็นธุรกิจที่สหกรณ์ได้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ต่างๆ มาจำหน่ายให้กับสมาชิกและบุคคลอื่นๆในราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าราคาอื่นๆ
4. ธุรกิจร้านค้า
อาจจะเป็นสิ่งที่เราลืมเลือนกันไปแล้วบ้าง แต่ว่าธุรกิจอยู่กับเรามาตั้งเรายังเด็กๆเลยก็ว่าได้ จำได้ไหมครับว่าเราซื้อพวกดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัดที่ไหนกันตอนอยู่ชั้นประถม ใช่ครับมันจะมีร้านอะไรไม่รู้ในโรงเรียนที่ขายให้กับนักเรียนในราคาที่ค่อนข้างถูกว่าร้านข้างนอก มีทั้งครูและนักเรียนช่วยกันขาย ใช่แล้วครับมันคือ สหกรณ์ร้านค้าของโรงเรียนนั่นเอง ผมเชื่อว่าในทุกๆโรงเรียนน่าจะมีร้านค้าสหกรณ์อยู่ครับ
5. ธุรกิจรวบรวมผลผลิต
ธุรกิจรวบรวมผลผลิตจะมีในสหกรณ์ในภาคการเกษตรเท่านั้นครับ การทำธุรกิจรวบรวมนั้นสหกรณ์จะทำโดยการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกที่เป็นเกษตรกรและนำไปขายให้แก่บุคคลอื่นๆหรือนำไปแปรรูป โดยจะได้ราคาดีกว่าให้สมาชิกนำไปขายเองและปองกันการถูกกดราคาด้วยครับ เช่น สหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด ได้ทำการรวบรวมน้ำนมดิบจากสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมเพื่อนำไปขายให้กับบริษัทที่ขายนมกล่อง เป็นต้น
6. ธุรกิจแปรรูป
ธุรกิจแปรรูปจะเป็นการนำผลผลิตของสมาชิกที่ได้จากการรวบรวมมาแปรรูปให้มูลค่าสูงขึ้นและยังเป็นการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกอีกด้วย เช่น สหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัดได้ทำการรับซื้อน้ำนมดิบมาแปรรูปเป็นนมกล่องและไอศกรีมเพื่อมาจำหน่ายแก่ผู้ที่สนใจ